ผู้เขียน หัวข้อ: โปรแกรมหมอประจำบ้านอัจริยะ: พิษปลาทะเล (Ciguatera)  (อ่าน 61 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 372
    • ดูรายละเอียด
ปลาทะเล เช่น ปลาสาก ปลาน้ำดอกไม้ ปลากะพง ปลานกแก้ว ปลากะรัง ปลาหมอทะเล เป็นต้น บางครั้งอาจมีพิษที่มีชื่อว่า ซิกัวท็อกซิน (ciguatoxin)* ทำให้เกิดพิษภัยแก่ผู้บริโภคได้

อาการเป็นพิษ ถ้าเกิดในเด็กจะมีความรุนแรงมากกว่าผู้ใหญ่

ส่วนใหญ่จะเป็นไม่รุนแรง มีอัตราตายค่อนข้างน้อย

*ซิกัวท็อกซิน เป็นพิษที่สังเคราะห์โดยสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน ที่มีชื่อว่า Gambierdiscus toxicus ซึ่งเป็นพืชเซลล์เดียว (dinoflagellate) ชนิดหนึ่ง ปลาที่กินสาหร่ายชนิดนี้เป็นอาหารก็จะมีการสะสมพิษในร่างกาย เมื่อปลาที่ใหญ่กว่ากินปลาที่มีพิษอยู่ (ตามห่วงโซ่อาหาร) ก็จะมีการสะสมพิษจำนวนมากขึ้น ดังนั้นยิ่งปลาตัวโตก็ยิ่งมีพิษมาก

พิษชนิดนี้ออกฤทธิ์ที่สำคัญคือ กระตุ้นช่องทางโซเดียม (sodium channel) ของเซลล์ประสาท ทำให้มีการดูดกลับโซเดียมเข้าเซลล์มากขึ้น ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของระบบประสาท ผู้ป่วยจะมีอาการของระบบประสาทและทางเดินอาหารเป็นสำคัญ

พิษมีความทนต่อความร้อน และมีมากในเครื่องในปลา


สาเหตุ

เกิดจากการบริโภคปลาทะเลพิษโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์


อาการ

มักเกิดหลังกินปลาทะเล (โดยเฉพาะปลาตัวโต) ประมาณ 2-6 ชั่วโมง (เร็วสุด 15 นาที นานสุด 30 ชั่วโมง)

อาการแรกเริ่มที่พบ คือ อาการแบบอาหารเป็นพิษทั่วไป ได้แก่ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน (ซึ่งอาจเป็นอยู่นาน 1-2 วัน)

ส่วนอาการทางระบบประสาทจะเกิดหลังกินปลา 2-3 ชั่วโมง ถึง 3 วัน ได้แก่ อาการเวียนศีรษะ เห็นบ้านหมุน เดินเซ ปวดศีรษะ ปวดฟัน ปวดตามข้อ ปวดกล้ามเนื้อ รู้สึกเสียวแปลบ ๆ เหมือนถูกเข็มตำ (paresthesia) ที่บริเวณปากและลิ้น ปวดและเสียวแปลบ ๆ (painful paresthesia) ที่แขนขา และมือเท้า การรับรู้อุณหภูมิกลับตาลปัตร (ร้อนว่าเย็น เย็นว่าร้อน) กล้ามเนื้ออ่อนแรง

ถ้าเป็นรุนแรง อาจมีอาการหายใจไม่ได้ เนื่องจากกล้ามเนื้อหายใจเป็นอัมพาต

นอกจากนี้ ยังอาจมีอาการเหงื่อแตก น้ำลายไหล หายใจขัด หนาวสั่น

อาการทางระบบประสาทมักเป็นอยู่นานหลายวันจนถึงหลายสัปดาห์ ในช่วงหลัง ๆ ผู้ป่วยอาจมีอาการคันและสะอึกร่วมด้วย


ภาวะแทรกซ้อน

ถ้ามีอาการอาเจียน หรือถ่ายท้องรุนแรง อาจเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรง หรือภาวะช็อกได้

ในรายที่เป็นรุนแรง อาจหยุดหายใจ และเสียชีวิตได้


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้

อาจพบภาวะขาดน้ำจากอาการอาเจียนและท้องเดิน

ตรวจพบอาการทางระบบประสาท เช่น อาการเสียวเเปลบ ๆ ที่ปาก ลิ้น แขนขา มือเท้า การรับรู้อุณหภูมิแบบกลับตาลปัตร (ซึ่งเป็นลักษณะจำเพาะของโรคนี้) แขนขาอ่อนแรง อาจพบชีพจรเต้นช้า ความดันโลหิตต่ำ


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การรักษาขั้นพื้นฐาน (อ่านเพิ่มเติมที่ "การรักษาขั้นพื้นฐาน (ที่สถานพยาบาล) สำหรับผู้ป่วยที่กินสัตว์หรือพืชพิษ" ด้านล่าง) และรับไว้รักษาในโรงพยาบาล เฝ้าติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิด และให้การรักษาแบบประคับประคอง

ให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ และให้ยาบรรเทาอาการ เช่น พาราเซตามอล บรรเทาปวดต่าง ๆ ยาแก้แพ้ บรรเทาอาการคัน อะมิทริปไทลีน บรรเทาอาการคันและความรู้สึกเสียวแปลบ ๆ เป็นต้น


ถ้ามีอาการชีพจรเต้นช้าให้อะโทรพีน

บางรายแพทย์อาจให้เมนนิทอล (mannitol) ในรูปสารละลาย 20% ช่วยลดอาการของระบบประสาท

ในกรณีที่เป็นรุนแรงถึงขั้นหยุดหายใจ (ซึ่งพบได้น้อย) ก็จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ

ผลการรักษา ส่วนใหญ่จะหายได้เป็นปกติ แต่อาจมีอาการอยู่นานหลายวันถึงหลายสัปดาห์กว่าจะหายสนิท ในรายที่เป็นรุนแรง เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง หายใจไม่ได้ หากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็มีโอกาสรอดชีวิตได้


การรักษาขั้นพื้นฐาน (ที่สถานพยาบาล) สำหรับผู้ป่วยที่กินสัตว์หรือพืชพิษ

1. ถ้าผู้ป่วยกินสัตว์หรือพืชพิษมาไม่เกิน 1 ชั่วโมง และยังไม่อาเจียน รีบทำให้ผู้ป่วยอาเจียนด้วยการให้ไอพีเเคกน้ำเชื่อมหรือใช้นิ้วล้วงคอ

2. ให้ผู้ป่วยกินผงถ่านกัมมันต์ (activated charcoal) ขนาด 1 กรัม/กก. โดยผสมน้ำ 1 แก้ว โดยให้ผู้ป่วยดื่มเอง ถ้าอาเจียนหรือดื่มเองไม่ได้ ให้ป้อนผ่านท่อสวนกระเพาะ (stomach tube) ถ้าผู้ป่วยหมดสติ ควรใส่ท่อช่วยหายใจก่อนเพื่อป้องกันการสำลัก

ควรให้เร็วที่สุดเมื่อพบผู้ป่วย (วิธีนี้จะได้ผลมากที่สุดเมื่อให้กินภายใน 30 นาทีหลังกินสัตว์หรือพืชพิษ) ไม่ควรให้ก่อนหรือหลังให้ยาที่ทำให้อาเจียน

ในรายที่รับพิษร้ายเเรง เช่น ปลาปักเป้า แมงดาถ้วย เห็ดพิษร้ายแรง หรือสงสัยรับพิษปริมาณมาก ควรให้ซ้ำทุก 4 ชั่วโมง

3. ทำการล้างกระเพาะอาหารด้วยน้ำเกลือนอร์มัลหรือน้ำ

วิธีนี้จะได้ผลดี เมื่อผู้ป่วยกินสารพิษมาไม่เกิน 1 ชั่วโมง และไม่มีอาการอาเจียน ถ้าทำหลังกินสารพิษมากกว่า 4 ชั่วโมง อาจไม่ได้ประโยชน์และไม่คุ้มกับผลข้างเคียง (ที่สำคัญคือ การสำลักเข้าปอดทำให้ปอดอักเสบ)

ควรกระทำโดยบุคลากรที่ชำนาญ และในที่ที่มีความพร้อม

ไม่จำเป็นต้องทำ ถ้าผู้ป่วยมีอาการอาเจียนมาก และห้ามทำในผู้ป่วยชัก ไม่ค่อยรู้ตัว หมดสติ

อาจให้ผงถ่านกัมมันต์กินก่อนล้างกระเพาะ หรือผสมผงถ่านกัมมันต์ในน้ำล้างกระเพาะก็ได้

4. ให้ผู้ป่วยดื่มโซเดียมไบคาร์บอเนต ขนาด 2-5% จำนวน 50 มล.

5. ให้กินยาระบาย ซอร์บิทอล (sorbitol) ขนาด 70% อาจกินเดี่ยว ๆ หรือผสมกับผงถ่านกัมมันต์แทนน้ำก็ได้ ถ้าไม่มีอาจให้ยาระบายอื่น ๆ เช่น ยาระบายแมกนีเซีย (Milk of Magnesia) แทน ให้ได้ไม่เกิน 2 ครั้ง

ห้ามทำ ในรายที่มีอาการถ่ายท้องมากอยู่แล้ว หรือมีภาวะขาดน้ำที่ยังไม่ได้รับการทดแทน

6. ให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ

7. ถ้าชักฉีดไดอะซีเเพม 5-10 มก.เข้าหลอดเลือดดำ

8. ถ้าหยุดหายใจหรือหายใจไม่ได้ ให้ทำการช่วยเหลือด้วยการเป่าปาก หรือใช้เครื่องช่วยหายใจ

9. ถ้าหมดสติ ให้การรักษาแบบหมดสติ


การดูแลตนเอง

หากสงสัยว่าผู้ป่วยเกิดอาการพิษปลาทะเล ควรทำการปฐมพยาบาลแล้วรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที

การปฐมพยาบาล สำหรับผู้ป่วยที่กินสารพิษ สัตว์พิษ หรือพืชพิษ

1. รีบทำให้ผู้ป่วยอาเจียน เพื่อขับพิษออก

    ถ้ามียากระตุ้นอาเจียน ได้แก่ ไอพีแคกน้ำเชื่อม (syrup ipecac) ให้กินครั้งละ 15-30 มล. (เด็กโต 15 มล.) และดื่มน้ำตามไป 1 แก้ว ถ้ายังไม่อาเจียนใน 20 นาที กินซ้ำได้อีก 1 ครั้ง
    ถ้าไม่มียา ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำ 1 แก้ว แล้วใช้นิ้วล้วงเข้าไปเขี่ยที่ผนังลำคอกระตุ้นให้อาเจียน ถ้าไม่ได้ผลทำซ้ำอีกครั้ง

ควรเก็บเศษอาหารที่อาเจียน ไว้ส่งตรวจวิเคราะห์

วิธีนี้จะได้ผลดี ต้องรีบทำภายใน 1 ชั่วโมงหลังกินสารพิษ และไม่ต้องทำหากผู้ป่วยมีอาการอาเจียนเองอยู่แล้ว

ห้ามทำ ในผู้ป่วยที่ชัก ไม่ค่อยรู้ตัวหรือหมดสติ หรือกินกรด ด่าง น้ำมันก๊าด ทินเนอร์ หรือสารพิษไม่ทราบชนิด

2. ถ้ามีผงถ่านกัมมันต์ (activated charcoal) ให้กินขนาด 1 กรัม/กก. โดยผสมน้ำ 1/2-1 แก้ว เพื่อลดการดูดซึมสารพิษเข้าร่างกาย (ไม่ต้องทำถ้าผู้ป่วยกินกรด ด่าง น้ำมันก๊าด ทินเนอร์)

ถ้าไม่มีผงถ่านกัมมันต์ ให้กินไข่ดิบ 5-10 ฟอง หรือดื่มนมหรือน้ำ 4-5 แก้ว

3. สำหรับผู้ป่วยที่กินพาราควอต ให้กินสารละลายดินเหนียว (Fuller’s earth) โดยผสมผงดินเหนียว 150 กรัม หรือ 2 1/2 กระป๋อง ในน้ำ 1 ลิตร ถ้าไม่มีให้ดื่มน้ำโคลนดินเหนียวจากท้องร่องในสวน (ที่ไม่มีตะปูหรือเศษแก้ว หรือสารพิษตกค้าง) ซึ่งจะลดพิษของยานี้ได้

4. สำหรับผู้ที่กินปลาปักเป้า แมงดาถ้วย ปลาทะเลพิษ หอยทะเลพิษ เห็ดพิษ ให้ดื่มโซเดียมไบคาร์บอเนตขนาด 2-5% จำนวน 50 มล. (อาจเตรียมโดยผสมผงฟู 1-2.5 กรัม ในน้ำ 50 มล.) ซึ่งจะช่วยลดพิษของอาหารพิษได้

ห้ามทำ ข้อ 2-4 ถ้าผู้ป่วยชัก ไม่ค่อยรู้ตัวหรือหมดสติ

5. ถ้าผู้ป่วยมีภาวะขาดน้ำ ให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ หรือให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ

6. ถ้าผู้ป่วยชักหรือหมดสติ ให้ทำการปฐมพยาบาลเช่นเดียวกับผู้ป่วยชัก (อ่านใน "โรคลมชัก" เพิ่มเติม) หรือหมดสติ (อ่านใน "อาการหมดสติ" เพิ่มเติม)

7. รีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาล ควรนำสารพิษที่ผู้ป่วยกินหรืออาเจียนออกมาไปให้แพทย์ตรวจวิเคราะห์ด้วย


การป้องกัน

หลีกเลี่ยงการกินปลาทะเลตัวโต น้ำหนักมากกว่า 2-3 กก. โดยเฉพาะเครื่องในปลา ไม่ว่าจะปรุงหรือทำให้สุกด้วยวิธีใด ๆ ก็ตาม


ข้อแนะนำ

1. หลังจากอาการทุเลาแล้ว ควรหลีกเลี่ยงการกินปลาและหอยทะเลอีก (เพราะอาจได้รับพิษเข้าไปซ้ำเติมอีก) จนกว่าจะหายเป็นปกติแล้ว ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยาประเภทฝิ่น และบาร์บิทูเรต ซึ่งจะทำให้อาการแย่ลงได้

2. โรคนี้มีอาการแบบอาหารเป็นพิษทั่วไป แต่จะมีอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย คือ รู้สึกเสียวแปลบ ๆ ที่บริเวณปาก ลิ้น แขนขา และการรับรู้อุณหภูมิแบบกลับตาลปัตร ดังนั้น ถ้ากินปลาทะเลแล้วมีอาการอาเจียน ท้องเดิน และมีอาการดังกล่าวร่วมด้วย ควรรีบไปรักษาที่โรงพยาบาล



โปรแกรมหมอประจำบ้านอัจริยะ: พิษปลาทะเล (Ciguatera)  อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com

 

ลงประกาศฟรี ติดอันดับ Google โฆษณาฟรี ประกาศฟรี ขายฟรี ลงประกาศขายบ้าน ขายที่ดิน ขายคอนโด ขายรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอุตสาหกรรม อาหารเสริม เครื่องสำอางค์ สถานที่ท่องเที่ยว โปรโมทเว็บไซต์ฟรี