COVID 19 ในเด็ก ลูกน้อยติดโควิดจากไหน?สถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโควิด19 ในประเทศไทย ตั้งแต่ปีพ.ศ.2563 จนถึงช่วงต้นปี พ.ศ.2565 มีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 มากขึ้น โดยเฉพาะในเด็กซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรค ประกอบกับไวรัสมีการปรับตัวกลายพันธุ์เกิดสายพันธุ์ใหม่อย่าง โอมิครอน (Omicron) ก่อให้การเกิดระบาดในวงกว้าง ยากต่อการรับมือป้องกัน
เด็กติดโควิด-19 ได้ไหม โควิด-19 แพร่กระจายได้อย่างไร?
ผู้ป่วยจะแพร่เชื้อทางน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ หรือละอองสารคัดหลั่งที่มีเชื้อโควิด-19 เข้าสู่ร่างกาย 3 ทางหลักๆ ได้แก่
1.อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย ในพื้นที่ปิด แล้วหายใจรับเชื้อไวรัสโควิด19
2. เมื่อผู้ป่วยโควิด จามหรือไอ แล้วเด็กได้รับละอองเข้าสู่ร่างกายทางจมูก ตา หรือปาก
3. ผ่านการสัมผัส ตา จมูก หรือปากด้วยมือที่เปื้อนเชื้อโควิด-19
อาการโรคโควิด-19 ในเด็ก
ผู้ป่วยโควิดมีการแสดงอาการหลากหลาย ตั้งแต่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยจนถึงป่วยหนัก ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่จะป่วยหนักได้แก่ อายุน้อยกว่า 1 ปี เด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอดเรื้อรัง โรคหัวใจ หรือโรคที่มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น แม้ผู้ป่วยเด็กที่มีสุขภาพแข็งแรงก็สามารถป่วยหนักได้ อาการอาจจะแสดงในวันที่ 2-14 ภายหลังจากได้รับเชื้อโควิด-19
อาการแสดง ได้แก่
ไข้
ไอ
อ่อนเพลีย
ปวดเมื่อยตามตัว
ปวดศีรษะ
ไม่ได้กลิ่นหรือลิ้นไม่รับรส
เจ็บคอ
คัดจมูก น้ำมูกไหล
คลื่นไส้ อาเจียน
ถ่ายอุจจาระเหลว
กรณีอาการรุนแรง เด็กอาจมีอาการแสดงเหล่านี้ แน่นหน้าอก ซึม กระสับกระส่าย หายใจลำบาก ดื่มนมหรือกินอาหารไม่ได้ มีอาการเขียว
ดูแลป้องกันอย่างไรให้ห่างไกลจากโควิด-19
รับวัคซีนป้องกันโควิด และฉีดกระตุ้นเมื่อครบกำหนดเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ลดโอกาสการป่วยหนักและการแพร่เชื้อสู่เด็กเล็ก
สวมหน้ากากอนามัยที่ขนาดพอดีอย่างเหมาะสม
หลีกเลี่ยงการไปสถานที่ที่แออัดหรือระบายอากาศไม่ดี
ตรวจ ATK / PCR เมื่อไม่แน่ใจ
เว้นระยะห่างจากผู้อื่น
ล้างมือสม่ำเสมอด้วยสบู่และน้ำสะอาด หรือใช้เจลล้างมือหากไม่สามารถหาสบู่และน้ำสะอาดได้