ผู้เขียน หัวข้อ: รวมความเข้าใจผิด “โรคเบาหวาน” เปลี่ยนวิธีคิด ช่วยป้องกันได้  (อ่าน 84 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 370
    • ดูรายละเอียด
ถ้าเอ่ยถึง “โรคเบาหวาน” แล้ว เชื่อว่าไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะปัจจุบันโรคเบาหวานของประชากรทั้งโลกนั้น ถือว่าอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงเลยทีเดียว โดยข้อมูลจากสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ หรือ IDF เผยว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคเบาหวานรวมทั้งสิ้นมากกว่า 400 ล้านราย และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ถึงแม้จะเป็นเช่นนั้น เราก็ยังพบว่าคนส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักถึงภัยเงียบของโรคนี้เท่าที่ควร

ในขณะเดียวกันก็มักมีความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับโรคเบาหวานอยู่หลายประการด้วย จึงยิ่งทำให้โอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานมากขึ้น ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันตัวเองและคนรอบข้างจากโรคเบาหวาน รวมถึงทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานสามารถดูแลตัวเองให้อยู่กับโรคได้อย่างมีคุณภาพ และมีความสุข วันนี้เราจะพาไปทำความเข้าใจโรคเบาหวาน ผ่าน ความเชื่อผิดๆ ที่ทำให้ชีวิตเสี่ยงอันตรายมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว !!!

 
ยารักษาโรคเบาหวาน คือตัวการทำให้ไตเสื่อมเร็ว

ถือเป็นความเชื่อที่ “ไม่ถูกต้อง” เพราะแท้จริงแล้ว ตัวการที่ทำให้ไตเสื่อมไวพังเร็วนั้น ก็คือ “ภาวะโรคเบาหวาน” ต่างหาก เพราะคนที่เป็นโรคเบาหวาน จะมีน้ำตาลในเลือดสูง ความหนืดของเลือดเพิ่มมากขึ้น ทำให้การกรองของเสียของไตทำงานเพิ่มขึ้น น้ำตาลในปัสสาวะที่สูงมากทำให้ไตไม่สามารถดูดกลับมาได้ทั้งหมด บางส่วนจึงถูกขับออกทางปัสสาวะ ส่งผลให้ไตทำงานหนักขึ้นไปอีก ในผู้ป่วยบางรายอาจมีโปรตีนรั่วร่วมด้วย สังเกตได้จากปัสสาวะมีฟองมากขึ้น หากทิ้งระยะนี้ไว้โดยไม่ได้รักษาจะทำให้การกรองของไตค่อยๆ ลดประสิทธิภาพลง จนกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้ไตเสื่อมในที่สุดนั่นเอง


โดยปกติแล้วเวลาที่ผู้ป่วยเบาหวานมาติดตามการรักษาตามนัด แพทย์จะมีการตรวจค่าไตเป็นระยะสม่ำเสมอ เพื่อปรับขนาดยาลดเพิ่ม ให้เหมาะสมกับค่าไตของคนไข้แต่ละราย ดังนั้นยารักษาโรคเบาหวาน จึงไม่ใช่ตัวการที่ทำให้ไตเสื่อม แต่ตัวการสำคัญก็คือโรคเบาหวานเอง ยิ่งหากผู้ป่วยไม่ดูแลตัวเองให้ดี ไม่คุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี ก็จะยิ่งมีโอกาสทำให้ไตเสื่อมได้เร็วมากยิ่งขึ้น
 
มีแต่คนแก่สูงวัยเท่านั้น ที่เสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน

นับเป็น “ความเชื่อที่ผิด” อย่างรุนแรง ที่ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ระวังจนมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานมากขึ้น เพราะคนทุกเพศทุกวัยก็สามารถป่วยเป็นโรคเบาหวานได้หมด โดยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 จะสามารถพบได้ตั้งแต่เด็กอายุน้อยๆ เป็นเบาหวานที่เกิดจากความผิดปกติของตับอ่อน ไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ ซึ่งอินซูลินจะเป็นสารหลักที่ดึงเอาน้ำตาลไปใช้ ดังนั้น เมื่อไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ ก็จะทำให้เกิดน้ำตาลค้างสะสมในกระแสเลือดจนกลายเป็นโรคเบาหวานในที่สุด

ในขณะที่โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ร่างกายยังผลิตอินซูลินได้ แต่เกิดภาวะดื้ออินซูลินส่งผลให้อินซูลินทำงานได้ไม่ดี ทำให้เกิดน้ำตาลในเลือดสูงตามมา เบาหวานชนิดที่ 2 นี้จะพบมากในคนที่มีอายุมากขึ้น ส่วนใหญ่จะพบในคนที่มีความเสี่ยงอื่นร่วมด้วย เช่น น้ำหนักตัวมาก ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น

กล่าวโดยสรุปก็คือ เบาหวานเป็นโรคที่พบได้ในคนทุกวัย และมีแนวโน้มพบในคนอายุน้อยลงเรื่อยๆ เนื่องจากพฤติกรรมของคนในปัจจุบันที่รับประทานอาหารจำพวก แป้ง-น้ำตาลมากขึ้น และขาดการออกกำลังกาย ทำให้เกิดน้ำตาลสะสมในเลือดสูงขึ้นจนกลายเป็นโรคเบาหวานไปในที่สุด

 
ทานของหวานมากเกินไป จะทำให้เป็นโรคเบาหวาน

สำหรับคนที่มีความเสี่ยงอยู่แล้ว เช่น มีภาวะโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง มีประวัติพ่อแม่ หรือญาติสายตรงเป็นโรคเบาหวาน จะถือว่ามีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานได้มากกว่าคนทั่วไป หากรับประทานของหวานมากเกินความต้องการของร่างกาย แต่ถึงแม้ว่าเราจะมีความเสี่ยงสูงแต่ถ้าควบคุมอาหารได้ดี หลีกเลี่ยงการรับประทานแป้งและน้ำตาลในปริมาณมาก เราก็จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานน้อยลง เนื่องจากการเป็นเบาหวานไม่ได้ขึ้นอยู่กับของหวาน 100% เพราะต่อให้เราไม่กินของหวาน แต่เราทานอาหารประเภทข้าว แป้งหรือไขมันมากจนเกินไป ก็อาจทำให้เกิดโรคอ้วนหรือน้ำหนักตัวเกิน ซึ่งจะส่งผลทางอ้อมให้ร่างกายดื้ออินซูลิน และทำให้เป็นเบาหวานได้ในที่สุด แม้จะไม่ได้กินของหวานมากก็ตาม

 
ใครๆ ก็เป็นโรคเบาหวานกัน ดังนั้น จึงไม่ใช่โรคร้ายที่น่ากลัว

เบาหวานถือเป็นหนึ่งใน “โรคอันตรายที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับต้นๆในโลก” เลยก็ว่าได้ เพราะเบาหวานอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง โดยแบบเฉียบพลันที่เราทราบกันดี ก็คือ น้ำตาลในเลือดสูงมากจนทำให้หมดสติ ซึม เกิดภาวะเลือดเป็นกรด อันนำไปสู่การติดเชื้อในกระแสเลือดและเสียชีวิตในที่สุด

ส่วนในกรณีที่เป็นแบบเรื้อรัง ก็มักจะเป็นเรื่องของหลอดเลือดที่ผิดปกติ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ แล้วก็เส้นเลือดที่เท้าตีบ เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นกับกลุ่มหลอดเลือดใหญ่ ส่วนที่เป็นเส้นเลือดขนาดเล็ก ก็อาจเกิดภาวะเบาหวานขึ้นตา เบาหวานลงไต แล้วก็เส้นประสาทเสื่อม เป็นต้น


ดังนั้นเบาหวานจึงเป็นโรคอันตรายที่ทุกคนควรตระหนักและป้องกัน โดยความอันตรายหลักๆ ของเบาหวานจะอยู่ที่ การทำให้เส้นเลือดเสื่อมสภาพ ทำให้การบีบและคลายตัวของเส้นเลือดผิดปกติ เกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ง่าย จนกลายเป็นสาเหตุของโรคร้ายที่ทำให้เสียชีวิตได้!


เป็นโรคเบาหวาน ห้ามรับประทานของหวานโดยเด็ดขาด

ต้องบอกว่า “ไม่ถูกต้องเสมอไป” โดยผู้ป่วยเบาหวานที่ยังคุมน้ำตาลได้ไม่ดี หรือผู้ป่วยเบาหวานที่เพิ่งเป็นใหม่ๆ แนะนำให้ “งด” คือหยุดรับประทานของหวานไปก่อน เพื่อให้สามารถรักษาโรคและคุมระดับน้ำตาลให้ได้ ส่วนกรณีผู้ป่วยที่คุมระดับน้ำตาลได้ดีแล้ว สามารถรับประทานของหวานได้ แต่แนะนำเป็นการ “ทานแบบแลกเปลี่ยนอาหาร” เช่น ในกรณีที่เราอยากทานขนมหวานมื้อไหน ก็ควรลดแป้ง ลดคาร์โบไฮเดรตในมื้อนั้นๆ ลง เพื่อให้เป็นการแลกเปลี่ยนกัน เพราะในแป้งก็มีน้ำตาล ของหวานก็มีน้ำตาล ถ้าเราทานคู่กัน ก็จะยิ่งทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้ ดังนั้น เราจึงควรลดแป้งลงหากอยากทานของหวาน เพื่อให้สามารถคุมโรคและระดับน้ำตาลของตัวเองได้ดี

นอกจากนี้ การทานแบบแลกเปลี่ยนยังจะช่วยทำให้เราได้ทานอาหารได้อย่างมีความสุขมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวมของร่างกายมากกว่า เพราะการคุมอาหารที่เข้มงวดมากเกินไป อาจส่งผลต่อสภาพจิตใจจนทำให้เป็นผลเสียต่อร่างกายได้ แต่อย่างไรก็ตามไม่แนะนำให้ใช้วิธีแลกเปลี่ยนอาหารบ่อยๆ เพราะอาจทำให้ติดรสหวานจนควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี

 
ห้ามบริจาคเลือดให้ใคร ถ้าถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน

ในความเป็นจริงแล้วคนเป็นเบาหวานสามารถบริจาคเลือดได้ เพียงแต่มีข้อควรระวัง คือ ต้องบริจาคเมื่อสภาพร่างกายพร้อมเท่านั้น เพราะส่วนใหญ่คนที่เป็นโรคเบาหวานจะมีโรคแทรกซ้อน เช่น ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจตีบ การบริจาคเลือดจึงอาจทำให้โรคแทรกซ้อนดังกล่าวกำเริบ หรือแสดงอาการที่ส่งผลเสียต่อร่างกายได้

เลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ไม่ใช่เลือดที่ไร้ประโยชน์ สามารถนำไปใช้ได้ทั้งพลาสม่า เกล็ดเลือด หรือเม็ดเลือดขาว ดังนั้น คนเป็นเบาหวานจึงบริจาคเลือดได้ และเลือดที่บริจาคไปก็ใช้ประโยชน์ได้ แต่จะต้องให้ร่างกายอยู่ในสภาพที่พร้อมสมบูรณ์เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเอง
 

ฉันผอม ฉันไม่อ้วน ฉันปลอดภัย ไม่ต้องหวั่นใจว่าจะเป็นโรคเบาหวาน

จริงอยู่ที่ว่าคนอ้วนมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานมากกว่าคนปกติทั่วไปถึง 50% เพราะภาวะอ้วนจะทำให้ร่างกายดื้ออินซูลิน เกิดน้ำตาลสะสมในเลือดจนกลายเป็นเบาหวานในที่สุด แต่ทั้งนี้ก็ “ไม่ได้หมายความว่าคนผอม คนไม่อ้วนจะเป็นโรคเบาหวานไม่ได้” เพราะหากเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของตับอ่อนที่ผลิตอินซูลินไม่ได้ อันนี้ต่อให้ไม่อ้วนก็เป็นเบาหวานได้เช่นกัน

หรือเราอาจพบการเป็นเบาหวานได้จากกรณีอื่นๆ เช่น ถ้าพ่อกับแม่เป็นเบาหวานทั้งคู่ ลูกก็อาจเป็นเบาหวานได้ โดยเป็นได้ตั้งแต่อายุน้อยๆ เลย เพราะเบาหวานเป็นโรคที่ส่งต่อได้ทางพันธุกรรม หรือเกิดตับอ่อนอักเสบเรื้อรังจากแอลกอฮอล์ทำให้การสร้างอินซูลินผิดปกติไป ดังนั้น อย่าชะล่าใจว่าไม่อ้วนแล้วจะไม่มีโอกาสเสี่ยงเป็นเบาหวาน

 
ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ฉีดอินซูลินรักษา แสดงว่าเข้าขั้นโคม่าอาการหนัก

การใช้อินซูลิน คือ วิธีการรักษาที่เหมาะสมกับคนไข้ ไม่ได้หมายความว่าจะต้อง “อาการหนัก” ถึงจะฉีดอินซูลิน เพราะการฉีดอินซูลินรักษา จะพิจารณาตามความเหมาะสมของแพทย์ อย่างในกรณีผู้ป่วยเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ หรือเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 แล้วมีโรคตับ โรคไตเรื้อรังร่วมด้วย ไม่สามารถทานยาบางชนิดได้ หรือทานยาแล้วแต่ยังควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดีพอ แพทย์ก็จะพิจารณาใช้การฉีดอินซูลินเข้าช่วย ไม่ได้จำเป็นว่าต้องอาการหนัก จึงฉีดอินซูลินรักษา

 
น้ำตาลจากผลไม้ กินดี กินได้ ไม่อันตราย ไม่ทำให้เสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน

ต้องทำความเข้าใจให้ชัดกันตรงนี้เลยว่า “น้ำตาลจากผลไม้ก็ส่งผลต่อความเสี่ยงทำให้เป็นโรคเบาหวานได้” เช่นกัน เพราะในผลไม้ส่วนใหญ่มีน้ำตาลฟรุกโตสซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นกลูโคสได้ ดังนั้น การรับประทานน้ำตาลฟรุกโตสในปริมาณมากเกินกว่าที่ร่างกายเผาผลาญได้ ก็จะทำให้มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน และอาจทำให้เกิดไขมันเกาะตับได้มากกว่ากลูโคสอีกด้วย ดังนั้นควรทานผลไม้ในปริมาณที่เหมาะสม และเลือกทานผลไม้ที่น้ำตาลน้อย อย่างแอปเปิ้ล ชมพู่ แก้วมังกร ฝรั่ง ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ที่รสไม่หวานจัด จึงเป็นทางเลือกที่ดี มีประโยชน์ ให้วิตามินและไฟเบอร์ อีกทั้งยังปลอดภัยกับร่างกายมากกว่า

 
แป้งและน้ำตาลเท่านั้น ที่ทำให้เป็นโรคเบาหวาน

ไม่จริงเสมอไป เนื่องจากอาหารประเภทไขมันและโปรตีน ก็สามารถเปลี่ยนไปเป็นน้ำตาลในเลือดได้เช่นกัน เพียงแต่ใช้เวลานานกว่า หากทานอาหารดังกล่าวเป็นปริมาณมาก ร่วมกับมีความเสี่ยงอื่นๆ เช่น โรคอ้วนหรือภาวะน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์จนเกิดภาวะดื้ออินซูลิน ความดันโลหิตสูง มีคนในครอบครัวเป็นเบาหวาน แม้จะไม่ทานแป้งหรือน้ำตาลก็สามารถทำให้เกิดโรคเบาหวานได้เช่นกัน ดังนั้น หากต้องการให้ตัวเองปลอดภัยห่างไกลจากเบาหวานจริงๆ ก็ต้องดูแลภาพรวมของการรับประทานให้ดี คุมความเสี่ยงให้ดี ไม่ให้ตัวเองอ้วน จึงจะปลอดภัย

 
โรคเบาหวานรักษาหายได้ ด้วยสมุนไพร ไม่จำเป็นต้องใช้ยา

สมุนไพรบางตัวมีคุณสมบัติในการลดระดับน้ำตาลในเลือดได้จริง เช่น หนานเฉาเหว่ย รางจืด ปอกะบิด เป็นต้น แต่ว่าโดยส่วนใหญ่แล้วมักเป็นการทำการศึกษาในสัตว์ทดลองหรือทดลองในวงเล็กๆ ที่ไม่ได้ทำกันทั่วโลก จึงทำให้เราไม่อาจทราบได้จริงๆ ว่าต้องทานปริมาณเท่าไร จึงจะสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดให้ได้ตามเกณฑ์ และไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ยาสมุนไพรในผู้ที่มีโรคตับ โรคไตเรื้อรัง ว่าต้องปรับขนาดอย่างไร สามารถรับประทานต่อเนื่องได้หรือไม่ อีกทั้งไม่ทราบผลข้างเคียงของสมุนไพรเมื่อใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากไม่มีการศึกษาที่ชัดเจน ดังนั้นการรักษาโรคเบาหวานที่ดีและปลอดภัยที่สุดนั้น จึงควรเป็นไปตามการแพทย์แผนปัจจุบันที่ได้ผ่านการศึกษาจนได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับใช้กันทั่วโลก

 
ความเชื่อผิดๆ หรือความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับโรคเบาหวาน

เรื่องราวเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ซึมลึกอยู่ในสังคมมานาน หากไม่ได้รับการแก้ไข ปล่อยให้หลายคนมีความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับโรคเบาหวานอยู่ โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวาน ผลลัพธ์ที่จะตามมาก็คงหนีไม่พ้น จำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานหน้าใหม่เพิ่มมากขึ้น และผู้ป่วยเบาหวานมีแนวโน้มอาการหนักขึ้น มีโอกาสเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น เพราะไม่สามารถดูแลตัวเอง หรือไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ที่ถูกต้อง

ดั้งนั้นเราทุกคนควรทำความเข้าใจถึงข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง เพื่อใช้ดูแลตัวเอง และดูแลคนที่เรารัก ให้ปลอดภัยจากโรคเบาหวาน รวมถึงควรหมั่นตรวจเช็กระดับน้ำตาล หรือการตรวจหาภาวะความเสี่ยงเบาหวานเป็นประจำในทุกๆ ปี


รวมความเข้าใจผิด “โรคเบาหวาน” เปลี่ยนวิธีคิด ช่วยป้องกันได้ อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/disease-conditions/278

 

ลงประกาศฟรี ติดอันดับ Google โฆษณาฟรี ประกาศฟรี ขายฟรี ลงประกาศขายบ้าน ขายที่ดิน ขายคอนโด ขายรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอุตสาหกรรม อาหารเสริม เครื่องสำอางค์ สถานที่ท่องเที่ยว โปรโมทเว็บไซต์ฟรี